เมืองไทยยูแอลพลัส วางแผนการเงิน ที่ปรึกษาการเงิน รับสมัครตัวแทน รับสมัครทีมงาน Unite Linked UDesign Elite Health Plus DHealth Plus
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 เกิดอุบัติเหตุรถบัสโดยสาร หมายเลขทะเบียน 30-0427 ขอนแก่น นำนักเรียนโรงเรียนบ้านดงหลบ เพื่อไปทัศนศึกษา พุ่งชนท้ายรถพ่วง 18 ล้อ ทะเบียน 84-9179 นครราชสีมา บริเวณทางหลวงสาย 304 กบินทร์บุรี-นครราชสีมา ช่วงหลัก กม. ที่ 42–43 ตำบล บุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บกว่า 40 ราย นั้น
สำนักงาน คปภ. ได้ประสาน สำนักงาน คปภ. จังหวัดปราจีนบุรี ทราบเบื้องต้นว่ารถบัสคัน
ดังกล่าว ได้จัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 2) กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ส่วนรถพ่วง 18 ล้อ พ่วงตัวแม่ทำประกันภัยรถภาคบังคับ และภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทายาทผู้ประสบภัยและผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย ดังนี้
1. ผู้ประสบภัยที่เสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะ ทายาทสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ดังนี้
1.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 200,000 บาทต่อคน ผู้ขับขี่จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น และ
1.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 2) กรณีไม่มีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน หรือกรณีมีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300,000 บาทต่อคน และ
1.3 ความคุ้มครองจากการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) สำหรับผู้ขับขี่ 50,000 บาท และผู้โดยสาร 53 คนๆ ละ 50,000 บาท
2. ผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ได้ดังนี้
2.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน และค่าชดเชยรายวัน สำหรับผู้ประสบภัยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล วันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน และ
2.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 2) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินความคุ้มครองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า อุบัติเหตุครั้งนี้มีความสูญเสียจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต และได้ประสานบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เพื่อเร่งดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้เสียชีวิตโดยเร็ว และขณะนี้บริษัทประกันภัยได้ส่งพนักงานไปประสานโรงพยาบาลที่รับรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยเพื่ออำนวยความสะดวกด้านค่ารักษาพยาบาลแล้ว ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะและผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะต้องรับผิดชอบผู้โดยสารจำนวนมาก ให้ความสำคัญในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้โดยสาร ขับรถด้วยความระมัดระวัง อย่าประมาท และขอให้ตรวจสอบวันหมดอายุของกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ และกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ เพื่อให้มีความคุ้มครองตลอดเวลา เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นเจ้าของรถและผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย สามารถบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนของท่านได้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน สัมมนาผู้สื่อข่าวครั้งที่ 14 ในหัวข้อ “วางแผนก่อนแก่…ดูแลชีวิตก่อนตาย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมด้านการจัดการทางการเงินก่อนวัยเกษียณ และเพื่อให้สื่อมวลชนได้เข้าใจเรื่องของการจัดการทางการเงินอย่างถูกต้อง และนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงคุณค่าและมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการประกันชีวิต รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทางการเงิน โดยมี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ณ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นประธาน ณ ห้องบอลรูม โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557
สำนักงาน คปภ. เมืองไทยยูแอลพลัส ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำทีมโดย ดร. อัมมาร สยามวาลา นำเสนอผลการวิจัยและรับฟังความคิดเห็นตาม “โครงการศึกษา วิจัยกรอบและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535” แนะสำนักงาน คปภ.ปรับนโยบายการกำกับเพื่อให้ธุรกิจประกันภัยแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยมีนายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. ผู้แทนจากภาคธุรกิจประกันภัย นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
โครงการศึกษา วิจัยกรอบและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นโครงการที่สำนักงาน คปภ. มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อเสนอกรอบแนวทางการพัฒนาระบบการประกันภัยรถภาคบังคับให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และบริบทการพัฒนาประเทศหลังประกาศใช้มากว่า 20 ปี โดยมีการเก็บข้อมูลจากผู้ประสบภัยจากรถ ผู้เอาประกันภัย สถานพยาบาล บริษัทประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษาการประกันภัยรถภาคบังคับของต่างประเทศนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ โดยผลการศึกษา ทีดีอาร์ไอได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการประกันภัยรถภาคบังคับในหลายประเด็น เช่น
1. การส่งเสริมให้มีการปรับโครงสร้างทางการตลาด ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้ธุรกิจประกันภัยแสดงศักยภาพที่เป็นจุดแข็งให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการกำหนดเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในการใช้รถของผู้ขับขี่แต่ละคน รถคันใดเกิดเหตุบ่อยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยสูงกว่ารถคันอื่น ควรปรับนโยบายให้เบี้ยประกันภัยขึ้นลงได้แทนอัตราคงที่ (Fixed Rate) ที่ใช้อยู่
2. ในด้านจำนวนเงินความคุ้มครองเห็นว่า ควรปรับปรุงให้ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ถูกกระทำละเมิดได้รับการดูแลโดยเท่าเทียมกัน เนื่องจากปัจจุบันผู้ประสบภัยที่ถูกชนแล้วหนี หรือเกิดจากรถที่ไม่ทำประกันภัยชน ได้รับค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่าผู้ประสบภัยที่ถูกรถที่มีประกันภัยชน นอกจากนั้นยังเห็นว่า จำนวนเงินความคุ้มครองควร มีการปรับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ประสบภัยจากรถ อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้สำนักงาน คปภ. ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการเข้มงวดให้รถทุกคันต้องทำประกันภัยโดยเฉพาะรถจักยานยนต์ซึ่งเป็นรถที่หลีกเลี่ยงการทำประกันภัยสูงมาก
3. ในส่วนการดำเนินงานของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยนั้น เห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมที่อิงกับระบบราชการ ออกไปเป็นหน่วยงานอิสระเพื่อให้เกิดความความคล่องตัวในการดำเนินงาน
นอกจากนั้น ยังสนับสนุนนโยบายที่สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ระบบสินไหมอัตโนมัติ (E-Claim) ที่เป็นระบบการเรียกค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลโดยตรงกับบริษัทประกันภัยและกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย การกำหนดให้บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นศูนย์กลางการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (Clearing House) ให้กับบริษัทประกันภัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ดร. อัมมาร สยามวาลา ได้เน้นย้ำจุดยืนหน้าที่ของบริษัทประกันภัยว่าควรตระหนักถึงการเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงและการตั้งราคาเพื่อควบคุมความเสี่ยง และสำนักงาน คปภ.ควรต้องกำกับให้บริษัทประกันภัยสร้างคุณค่าให้กับสังคมผ่านระบบประกันภัยให้มากขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่าข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการประกันภัยรถภาคบังคับเป็นอย่างมาก โดยสำนักงาน คปภ. จะนำผลการวิจัยดังกล่าวหารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางมาตรการดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะในระยะยาวที่ทีดีอาร์ไอเสนอให้ปรับบทบาทของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยออกเป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่แสวงหากำไร เนื่องจากปัจจุบันกองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงาน คปภ.
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2557 เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ หมายเลขทะเบียน 60-0811 กรุงเทพมหานคร ตัวพ่วงหมายเลขทะเบียน 60-0813 กรุงเทพมหานคร เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-2555 ลพบุรี รถกระบะหมายเลขทะเบียน บย 4892 เพชรบูรณ์ และรถกระบะหมายเลขทะเบียน กง 9472 สกลนคร บนถนนพหลโยธิน อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 12 ราย นั้น
สำนักงาน คปภ. ได้ประสานสำนักงาน คปภ. จังหวัดสระบุรี เบื้องต้นทราบว่ารถบรรทุกพ่วงคันดังกล่าว ได้จัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กับ บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) รถตู้โดยสาร ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) และประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) รถกระบะหมายเลขทะเบียน กง 9472 สกลนคร ทำประกันรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และรถกระบะหมายเลขทะเบียน บย 4892 เพชรบูรณ์ ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กับบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย ดังนี้
1. ผู้ประสบภัยเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร ทายาทสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ดังนี้
1.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 200,000 บาทต่อคน และ
1.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กรณีไม่มีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน หรือกรณีมีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300,000 บาทต่อคน
2. ผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ได้ดังนี้
2.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน และค่าชดเชยรายวัน สำหรับผู้ประสบภัยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล วันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน และ
2.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินความคุ้มครองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และในเบื้องต้นทราบว่าบริษัทประกันภัย ได้ประสานโรงพยาบาลที่รับรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยเพื่ออำนวยความสะดวกด้านค่ารักษาพยาบาล และติดต่อทายาทผู้เสียชีวิตเพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว ทั้งนี้ขอย้ำเตือนประชาชนท่านเจ้าของรถตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยรถภาคบังคับ และการประกันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนี้มีรถคู่กรณีถึง 4 คัน แต่ปรากฏว่าเป็นรถที่มีการทำประกันภัยรถภาคบังคับทุกคัน และทำประกันภัยรถภาคสมัครใจถึง 3 คัน แสดงว่าประชาชนในส่วนภูมิภาคเห็นประโยชน์และความสำคัญของการทำประกันภัยเพิ่มมากขึ้น เพราะระบบประกันภัยสามารถบรรเทาความเดือดร้อนและความเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. มีกำหนดจัดอบรมหลักสูตรที่ปรึกษาด้านการประกันภัย (Chartered Insurance Advisor : CIA) รุ่นที่ 4 เพื่อยกระดับ และพัฒนาขีดความสามารถคนกลางประกันภัยให้มีความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับการประกอบอาชีพที่ปรึกษาด้านการประกันภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งการอบรมจะประกอบไปด้วยการศึกษาดูงานด้านการประกันภัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2557 ในวันและเวลาราชการ และเริ่มอบรมในเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2557
ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเป็นตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัย ซึ่งได้รับอนุญาตทั้งการประกันชีวิต และการประกันวินาศภัย ที่ใบอนุญาตใบหนึ่งผ่านการต่ออายุใบอนุญาตครั้งที่ 4 และใบอนุญาตอีกใบหนึ่งต้องผ่านการต่ออายุครั้งที่ 2 ไปแล้ว และไม่เคยมีประวัติการถูกร้องเรียนหรือได้รับหนังสือคำเตือนจากบริษัทมาก่อน ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับเกียรติบัตรที่ปรึกษาด้านการประกันภัยพร้อมบัตรทองตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิต และประกันวินาศภัย รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น อาทิ สามารถนำหนังสือรับรองการผ่านการอบรมไปใช้สำหรับทดแทนการอบรมหลักสูตรการขอต่ออายุใบอนุญาต ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป สามารถใช้ทดแทนการอบรมเป็นผู้ขายกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) หรือกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ และได้รับสิทธิพิเศษในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้บรรยายของสถาบัน สมาคม และองค์กร ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนให้เป็นสถาบันจัดอบรมเป็นระยะเวลา 3 ปี
คปภ. แจงเหตุเพลิงไหม้ไทเกอร์โพลี ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ของบริษัท ไทเกอร์โพลี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เช่นท่ออ่อนที่ทำจากพลาสติก ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น
สำนักงาน คปภ. ได้ประสานสำนักงาน คปภ. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เบื้องต้นทราบว่าโรงงานบริษัท ไทเกอร์โพลี (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รายละเอียดความคุ้มครอง ดังนี้
1. อาคารสิ่งปลูกสร้าง และสาธารณูประโภค วงเงินคุ้มครอง 46 ล้านบาท
2. อุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ ระบบไฟฟ้า วงเงินคุ้มครอง 4.2 ล้านบาท
3. เครื่องจักร อุปกรณ์ และอะไหล่ วงเงินคุ้มครอง 43 ล้านบาท
4. สินค้าสำเร็จรูป /กึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบ วงเงินคุ้มครอง 10 ล้านบาท
เลขาธิการ กล่าวเสริมว่า ได้รับรายงานว่าบริษัทประกันภัยได้ส่งผู้ประเมินวินาศภัยหรือ เซอร์เวย์เยอร์ เข้าไปสำรวจความเสียหายแล้ว และทางบริษัทประกันภัยขอให้ผู้เอาประกันภัยแสดงรายละเอียดรายการทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายให้บริษัทฯ ทราบ เพื่อการประเมินค่าสินไหมทดแทน ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะได้เร่งประสานให้บริษัทประกันภัยดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยความรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันภัย เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดการทำประกันภัยสามารถบรรเทาความเสียหายของท่านได้
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยสถิติการสอบตัวแทน/นายหน้าประกันภัยสรุปรวมทั้งปี 2556 มีจำนวนผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 248,501 ราย สอบผ่านร้อยละ 39.26
จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้สมัครสอบแยกตามประเภท พบว่าการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตมีจำนวนผู้สมัครสอบสูงสุดถึง 177,023 ราย คิดเป็นร้อยละ 71.24 ของผู้สมัครสอบทั้งหมด สอบผ่านทั้งสิ้น ร้อยละ 52.26 ในจำนวนนี้เป็นผู้สมัครสอบผ่านสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคจำนวน 105,899 ราย หรือ คิดเป็น ร้อยละ 59.82 ของผู้สมัครสอบทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของธุรกิจประกันภัยสู่ภูมิภาคมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทประกันชีวิตที่ส่งผู้สมัครสอบมากที่สุด 3 อันดับแรกประกอบด้วย บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย จำนวน 54,214 ราย บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 31,736 ราย และบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด จำนวน 25,665 ราย และจังหวัดที่มีสถิติการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 71,124 ราย เชียงใหม่ จำนวน 10,762 ราย และสงขลา จำนวน 8,262 ราย
รองลงมาคือการสอบประเภทนายหน้าประกันวินาศภัย (บุคคลธรรมดา) มีผู้สมัครสอบจำนวน 39,334 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.83 ของผู้สมัครสอบทั้งหมด สอบผ่านทั้งสิ้นร้อยละ 37.59 ตามมาด้วยการสอบประเภทนายหน้าประกันชีวิต (บุคคลธรรมดา) มีผู้สมัครสอบทั้งสิ้น 24,782 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.97 ของผู้สมัครสอบทั้งหมด มีผู้สอบผ่านทั้งสิ้น ร้อยละ 53.91
เลขาธิการ สำนักงาน คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประกันภัยไทยมีการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัดตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นผลมาจากการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยในปีหน้า จึงทำให้ต้องมีการเร่งพัฒนาบุคลากรประกันภัยเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ในการทำประกันภัยประชาชนควรเลือกซื้อผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย ที่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเท่านั้น รวมถึงเมื่อมีการจ่ายเบี้ยประกันภัยต้องขอเอกสารแสดงการรับเงินทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยอย่างครบถ้วน หากมีข้อสงสัยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.oic.or.th หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186
สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดการประชุมเสนอผลงานวิจัยและรับฟังความคิดเห็น“โครงการศึกษา วิจัยกรอบและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการประกันภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535” มี ดร.อัมมาร สยามวาลา ดร.สุเมธ องกิตติกุล และ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นำเสนอผลการวิจัย โดยมี นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. ผู้แทนจากภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย อภิปรายและแสดงความคิดเห็น ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557
สำนักงาน คปภ. จัดอบรมความรู้ด้านการประกันภัยให้แก่เครือข่ายภาคประชาชน กรุงเทพฯ ประจำปี 2557 เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย โดยมี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริม นายจรัญ สอนสวัสดิ์ ให้เกียรติเป็นวิทยากร ณ โรงแรมฮิพ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆนี้
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) วันที่ 10 เมษายน 2557 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการขยายเวลาการแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินการที่บกพร่องของบริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ออกไปอีก 90 วัน เนื่องจากบริษัทแก้ไขประเด็นปัญหาไม่ลุล่วง ประกอบกับบริษัทร้องขอขยายระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการคปภ. จึงพิจารณาขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาของบริษัทออกไปอีก 90 วัน
โดยบริษัทจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1. จัดทำรายงานสรุปรายละเอียดของกรมธรรม์ที่บริษัทจะต้องชำระเงินคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อครบกำหนดสัญญา เช่น หมายเลขกรมธรรม์ ชื่อผู้เอาประกันภัย จำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อครบกำหนด และส่งรายงานดังกล่าวให้สำนักงาน คปภ. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง และให้บริษัทบันทึกรายการในสมุดทะเบียน สมุดบัญชี คำนวณและดำรงเงินสำรองประกันภัยให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตามกฎหมาย
2. บันทึกรายการหนี้สิน ได้แก่ ค่าปรับ และจำนวนเงินสำรองเงินจ่ายตามกรมธรรม์ ให้ครบถ้วน
3. จัดหาเงินทุน เช่น การเพิ่มทุน ให้เพียงพอต่อภาระผูกพันตามที่ระบุข้างต้น และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด
4. เร่งจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ร้องเรียนให้ครบถ้วน
5. จัดให้มีระบบงานและบุคลากรที่มีคุณภาพและจำนวนที่เหมาะสมเพื่อให้บริการประชาชนและผู้เอาประกันภัย ระบบงาน ได้แก่ ความพร้อมในระบบบัญชีการเงิน ระบบการเสนอขายและการพิจารณารับประกันภัย ระบบการจัดการค่าสินไหมทดแทน ระบบการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น รวมถึงให้มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมและให้มีคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงาน แต่ละระดับเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
ทั้งนี้ บริษัทยังคงอยู่ภายใต้คำสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ในระหว่างการหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว บริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด (มหาชน) สามารถให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยรายเดิมได้ตามปกติ เช่น การจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่สามารถขายกรมธรรม์ประกันภัยรายใหม่ได้ โดยสำนักงาน คปภ. ได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำที่บริษัททุกวันเพื่อประสานให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือ www.oic.or.th