แบบประกันตลอดชีพ ประกันสุขภาพเหมาจ่าย ประกันโรคร้ายแรง สร้างมรดก ประกันชีวิตเพื่อสร้างมรดก รับสมัครตัวแทน รับสมัครทีมงาน วางแผนการเงิน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560 ได้นำคณะผู้บริหาร ทีมงานรับเรื่องร้องเรียน ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย พร้อมภาคธุรกิจประกันภัย ขับเคลื่อนพลังประชารัฐเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคถึงประตูบ้านด้วยการลงพื้นที่ชุมชนวัดจำปา อำเภอบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน และรับฟังสภาพปัญหาด้านประกันภัย พร้อมให้ความรู้และข้อแนะนำเกี่ยวกับการประกันภัยและให้บริการด้านการประกันภัยในลักษณะ mobile unit โดยจะนำข้อมูลและสภาพปัญหาที่ได้รับนำไปปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและประชาชนมากยิ่งขึ้น
สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้มี นายทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ ประธานชุมชนวัดจำปา ได้พาเยี่ยมชมฐานความรู้ต่างๆ พร้อมเล่าถึงความเป็นมาและประเด็นปัญหาของชุมชนวัดจำปา หรือ “ชุมชนเกาะศาลเจ้า” ซึ่งเป็นชุมชนในเมืองหลวงที่ยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติ วิถีชาวสวนเกษตรสวนผักริมคลอง สวนกล้วยไม้ บ้านเรือนและศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม และเป็นแหล่งเรียนรู้งานช่างที่เรียกว่า “กลุ่มช่างวัดจำปา” ซึ่งมีฝีมือขึ้นชื่อทั้งงานเขียน ปั้น งานแทงหยวกกล้วย บายศรี การทำน้ำอบน้ำปรุง และแป้งพวงที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ในโอกาสนี้ นางคนึงนิจ สุจิตจร ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย นายชนะพล มหาวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ร่วมเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ “ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน” โดยมีนายชัยยุทธ มังศรี ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ เป็นผู้ดำเนินรายงาน ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับประชาชนและสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยอย่างครบวงจรอีกด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญและประเด็นปัญหาด้านประกันภัยภายในชุมชนวัดจำปา รวมถึงแนวทางที่ชุมชนแห่งนี้จะสามารถใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัย เพื่อช่วยในการบริหารความเสี่ยงที่ชุมชนวัดจำปาอาจจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยน้ำท่วม อัคคีภัย อุบัติเหตุทางถนน อุบัติเหตุทางน้ำ ฯลฯ โดยในการนี้สำนักงาน คปภ. ได้ให้คำปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาด้านประกันภัยกับชาวชุมชนที่ประสบปัญหาด้านประกันภัย พร้อมกับได้รับทราบสภาพแวดล้อมในชุมชน ซึ่งจะนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยกลุ่มที่เหมาะสมกับชุมชนต่อไป
“โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ถือเป็นโครงการนำร่องในเชิงรุกที่จะขับเคลื่อนองค์กร คปภ. ไปสู่ประชาชนถึงประตูบ้าน และการลงพื้นที่เพื่อชุมชนนั้น มุ่งสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของการประกันภัยให้กับประชาชนสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยให้กับตนเองและครอบครัว รวมทั้งมุ่งหวังให้ระบบประกันภัยเข้ามามีส่วนช่วยเสริมสร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว อันจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์จำพรรษาถ้วนกาลไตรมาส ณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ในวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2560 โดยมี ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานในพิธี ซึ่งผลจากการร่วมแรงร่วมใจของทั้งบุคลากรสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันภัย และประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมทำบุญกุศลใหญ่ครั้งนี้ทำให้มียอดเงินบริจาคทำบุญรวม 5,116,801.54 บาท ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำหนังสือที่ระลึกพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานซึ่งมีเนื้อหานอกจากจะประกอบด้วยประวัติของวัดไชยชุมพลชนะสงครามแล้ว ยังมีสาระที่ควรรู้เกี่ยวกับประกันภัยอย่างครบถ้วน อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.ยังได้รวมพลังภาคธุรกิจประกันภัย ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยมอบทุนการศึกษา พร้อมบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 38 เครื่อง อุปกรณ์เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา น้ำดื่ม และของเล่นให้โรงเรียนภายใต้การอุปถัมภ์ของวัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ โรงเรียนอนุบาลวัดไชยชุมพลชนะสงคราม โรงเรียนพระปริยัติธรรม (แผนกสามัญศึกษา) และโรงเรียนวิสุทธรังสี
ย้ำหากตัวแทนเบี้ยวแล้วเกิดความเสียหายบริษัทต้องรับผิดชอบ เผยสั่งการให้ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ร่วมทีมสายตรวจสอบเอ็กซ์เรย์ระบบการชดใช้ค่าสินไหมของบริษัทประกันภัยเพื่อเพิ่มกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มข้น
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย” เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2560 ณ เทวมันต์ทรา รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี การสัมมนาดังกล่าวจัดโดยสมาคมประกันชีวิตไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าสัมมนาอันประกอบด้วยกรรมการสมาคมประกันชีวิตไทยและผู้บริหารของบริษัทประกันชีวิตกับผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับประกาศ คปภ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ.2559 และประกาศ คปภ. อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย
ในโอกาสนี้เลขาธิการ คปภ.ได้กล่าวย้ำว่า แบบประกันตลอดชีพ
สำนักงาน คปภ.ให้ความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้บริโภคถือเป็นศูนย์กลางของระบบประกันภัย หากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัยย่อมพัฒนาต่อไปได้ยาก ด้วยเหตุนี้แผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 ในยุทธศาสตร์ที่ 1 จึงให้ความสำคัญต่อการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยเป็นที่เชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชน ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีนโยบายดูแลผู้บริโภคแบบเชิงรุกและครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและเสริมศักยภาพระบบการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งมากขึ้น
โดยบริษัทประกันชีวิตจะต้องกำกับดูแลตัวแทนประกันชีวิตให้ดี เพราะแม้ตัวแทนจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยสามารถเข้าถึงประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องร้องเรียนต่างๆหลายเรื่องเกิดจากพฤติกรรมของตัวแทน ซึ่งหากตัวแทนประกันชีวิต ไปกระทำการให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัย บริษัทจะต้องร่วมรับผิดจากการกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทนั้นๆ ด้วย ตามมาตรา 70/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติว่า“บริษัทต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนประกันชีวิตต่อความเสียหายที่ตัวแทนประกันชีวิตนั้นได้ก่อขึ้นจากการกระทำการเป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัท”
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า กรณีบริษัทประกันภัยใช้บริการจากบุคคลภายนอกในการดำเนินงานให้กับบริษัท สำนักงาน คปภ. ได้มีประกาศ คปภ. เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการใช้บริการจากบุคคลภายนอก (Outsourcing) ของบริษัทประกันภัย เพื่อสนับสนุนให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานและใช้ทรัพยากรของบริษัทในงานหลักที่สำคัญ รวมถึงให้ได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและเครือข่ายของผู้ให้บริการภายนอก ซึ่งประกาศดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการใช้บริการจากบุคคลภายนอก โดยคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ได้รับมอบหมาย ต้องกำหนดนโยบายการใช้บริการจากบุคคลภายนอกที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน และจะต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ บริษัทจะต้องกำหนดแนวทางการคัดเลือกผู้ให้บริการอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาถึงสถานะของผู้ให้บริการ ซึ่งจะต้องไม่อยู่ในลักษณะที่อาจมีผลประโยชน์ขัดกันกับบริษัท สถานะความมั่นคงทางการเงิน และต้องมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมทั้งบริษัทต้องพึงตระหนักเสมอว่าการใช้บริการจากผู้ให้บริการเป็นเพียงการเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินการเท่านั้น บริษัทยังมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าเสมือนหนึ่งบริษัทเป็นผู้ดำเนินการเอง ดังนั้นบริษัทต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าได้ดูแลและรับผิดชอบต่อลูกค้าอย่างเหมาะสม โดยต้องดูแลให้ผู้ให้บริการจัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยและความลับของข้อมูลลูกค้า มีระบบดูแลเรื่องร้องเรียนและแก้ปัญหาแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอเหมาะสม ไม่ทำให้คุณภาพของบริการที่ลูกค้าได้รับด้อยลง รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อลูกค้าให้ทราบล่วงหน้าด้วย
“ที่สำคัญในการพิจารณาตัดสินใจชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย บริษัทต้องรับผิดชอบในความผูกพันที่มีอยู่ตามสัญญาประกันภัย จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องมีกระบวนการพิจารณาอนุมัติการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและให้บริการลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ และสามารถตรวจสอบคุณภาพได้ โดยบริษัทจะต้องควบคุมกำกับผู้ให้บริการภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ให้ใช้อำนาจหน้าที่นอกขอบเขตอำนาจที่ได้รับ ซึ่งอาจทำให้ผู้เอาประกันเกิดความเข้าใจผิดและได้รับความเสียหายได้”
ดังนั้นการจัดการเรื่องร้องเรียนและกระบวนการในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจึงถือเป็นหัวใจที่สำคัญ ซึ่งหากปราศจากการบริหารจัดการที่ดีแล้วย่อมนำมาซึ่งปัญหาการร้องเรียนและการขาดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงมีนโยบายในการบังคับใช้ประกาศ คปภ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ.2559 อย่างจริงจัง เพื่อให้การชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต และการจัดการเรื่องร้องเรียนของบริษัท เป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรม จึงได้สั่งการให้สายตรวจสอบปฏิบัติการตรวจสอบประเด็นนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งจะมีการทำงานแบบบูรณาการระหว่างสายตรวจสอบและสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ของสำนักงาน คปภ.
โดยในการตรวจสอบประเด็นเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมของบริษัทประกันภัย จะให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ไปร่วมทีมออกตรวจด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และเป็นมาตรการเชิงรุกในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าหากสำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากสมาคมประกันชีวิตไทยและบริษัทประกันชีวิต ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการประกันภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้ก้าวสู่ความแข็งแกร่ง มีคุณภาพ เสถียรภาพ มีธรรมาภิบาล และเติบโตยั่งยืนอย่างแท้จริง
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 ธุรกิจประกันภัยทั้งระบบมีตัวแทน/นายหน้าประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 532,697 ราย โดยแบ่งเป็นตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 271,483 ราย ตัวแทนประกันวินาศภัย จำนวน 19,735 ราย นายหน้าประกันชีวิต จำนวน 109,303 ราย และนายหน้าประกันวินาศภัย จำนวน 132,176 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่กระทำผิดกฎหมายสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนนั้นถือได้ว่ามีอัตราส่วนที่น้อยมาก ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพิสูจน์ยืนยันแล้ว จึงได้ดำเนินการลงโทษอย่างเคร่งครัดด้วยการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 (วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน) ตนในฐานะนายทะเบียนได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย รวม 15 ราย โดยอาศัยอำนาจตาม ข้อ 6 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการประกาศ หรือโฆษณาการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต (วินาศภัย) พ.ศ. 2556 โดยในจำนวนนี้ประกอบด้วยตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 13 ราย และนายหน้าประกันวินาศภัย จำนวน 2 ราย ซึ่งผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทั้ง 15 ราย จะไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยหรือขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนสาเหตุของการกระทำความผิดของบุคคลทั้ง 15 ราย ที่นำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตในครั้งนี้เกิดขึ้นใน 2 ลักษณะ คือ ได้รับชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย แต่มิได้นำเงินค่าเบี้ยประกันภัยส่งให้บริษัทประกันภัย และปลอมลายมือชื่อในใบรับมอบกรมธรรม์ เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์
“ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับคุณภาพของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ตั้งแต่กระบวนการก่อนการขาย การเสนอขายตลอดจนการให้บริการหลังการขาย อีกทั้งมีการอบรม การสอบ การขอต่ออายุเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัยไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ สำนักงาน คปภ. จึงมีความเข้มงวดและมีความเฉียบขาดในการดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาลงโทษอย่างเคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง
อย่างเช่นกรณีบริษัทแห่งหนึ่งที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย แต่ไปเสนอขายประกันภัยรถยนต์ของบริษัทประกันภัยหลายแห่งผ่านทางโทรศัพท์และเมื่อผู้เสียหายตกลงทำประกันภัยรถยนต์และชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยแล้ว ผู้เสียหายก็ไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย ทำให้เกิดความเสียหาย สำนักงาน คปภ.ได้ตรวจสอบติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและได้มอบหมายให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสายกฎหมาย และคดีนำประชาชนกว่า 30 คน ที่ได้รับความเสียหายเข้าแจ้งความต่อกองปราบปรามเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2560 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด”
นอกจากนี้ กฎหมายในการกำกับดูแลตัวแทนนายหน้าประกันภัย จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากได้มีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งมีบทกำหนดโทษทางอาญาทั้งจำคุกและปรับด้วย ดังนั้นต่อไปหากตัวแทนและนายหน้าประกันภัยกระทำผิด นอกจากจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว ถ้าการกระทำเข้าองค์ประกอบความผิดเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยก็อาจถูกดำเนินคดีจนถึงขั้นจำคุกและปรับอีกด้วย
และเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง จากการซื้อประกันภัยจากตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่มีคุณภาพ ประชาชนควรตรวจสอบว่าผู้เสนอขายประกันภัย เป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง รวมทั้งรายชื่อตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตในไตรมาสที่ 3 จำนวน 15 ราย โดยสามารถตรวจสอบสถานะตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศในประเทศไทยมีฝนตกชุกและในหลายพื้นที่มีน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งสำนักงาน คปภ. ที่ 283/ 2560 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามการช่วยเหลือด้านการประกันภัยกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ เพื่อกำกับและติดตามให้บริษัทประกันภัยดำเนินการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ ตลอดจนบูรณาการการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมประกันภัยในการแก้ไขสถานการณ์ที่ขึ้นเกิดได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
สำนักงาน คปภ. ยังได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมาด้วยการออกมาตรการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ติดตามและรายงานความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งนี้เพื่อเป็นเตรียมความพร้อมในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เอาประกันภัย ประชาชน ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านประกันภัย ณ สำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัด โดยประสานความร่วมมือกับสาขาบริษัทประกันภัย ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย สมาคม/ชมรมประกันภัยในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และจังหวัดใดที่เกิดน้ำท่วมให้รายงานสถานการณ์ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้สำนักงาน คปภ. ยังได้ออกหนังสือถึงสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย แจ้งบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิต ให้ติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการในการดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยให้มีการประสานงานหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบกับประชาชนผู้เอาประกันภัยเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ในกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยขอให้บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต เร่งรัดตรวจสอบความเสียหาย และพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ทั้งนี้จากการที่ฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ช่วงวันที่ 13-14 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวกทม.ได้รับผลกระทบ โดยในส่วนของรถยนต์มีรถยนต์ถูกน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงาน คปภ.ได้ติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใย และได้ประสานงานกับบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. ติดตามให้ความช่วยเหลือ และเร่งรัดให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมดังกล่าว โดยในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 ได้เรียกประชุมคณะกรรมการกำกับและติดตามการช่วยเหลือด้านการประกันภัยฯเพื่อติดตามดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยนี้เป็นการเร่งด่วน
จากรายงานล่าสุด ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2560 เวลา 9.30 น. มีรถยนต์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ถูกน้ำท่วมจำนวน 3,184 คัน ซึ่งทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัย 41 บริษัท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 45,598,009 บาท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม โดยให้ยึดถือแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับ A น้ำท่วมถึงพื้นรถยนต์ ประเมินค่าซ่อม 8,000-10,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 15 รายการ เช่น ตรวจสอบแบ็ตเตอรี่ (ถอดขั้ว/ตรวจสอบน้ำกลั่น/ไฟ-ชาร์ท) ทำความสะอาดตัวรถ ล้าง-อัด-ฉีด ขัดสี ถอดเบาะนั่ง หน้า-หลัง ถอดคอนโซลกลาง (คันเกียร์) ถอดพรมในเก๋ง-ซักล้าง-ตาก-อบแห้ง ถอดคันเร่ง (รถที่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าและเซ็นเซอร์) ถอดลูกยางอุดรูพื้นรถและทำความสะอาด ล้างทำความสะอาดห้องเครื่อง-เป่าแห้ง ตรวจสอบทำความสะอาดระบบเบรก 4 ล้อ/ผ้าเบรก ทำความสะอาดสายไฟ-ปลั๊กไฟด้วยน้ำยาเคมีภัณฑ์ ตรวจสอบชุดท่อพักไอเสีย (แคทธาเรติค)
ระดับ B น้ำท่วมถึงเบาะนั่ง ประเมินค่าซ่อม 15,000 -20,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 26 รายการ โดยเพิ่มเติมจาก 15 รายการในระดับ A คือ การถ่ายน้ำมันเครื่อง-เกียร์-เฟืองท้าย กรองน้ำมันเครื่อง-กรองอากาศ-กรองเบนซิน-กรองโซล่า ตรวจระบบจุดระเบิด หัวเทียน จานจ่าย หัวฉีด ตรวจสอบชุดเพลาขับ ถอดทำความสะอาดแผงประตูทั้ง 4 บาน ตรวจชุดสวิทซ์สตาร์ท-กล่องควบคุมไฟ- กล่องฟิวส์ ถอดทำความสะอาดไล่ความชื้นระบบเข็มขัดนิรภัย ถอดทำความสะอาดชุดมอเตอร์ยกกระจกไฟฟ้า ตรวจสอบทำความสะอาดเบาะ ถอดทำความสะอาด (ไดร์สตาร์ทและไดร์ชาร์จ) เพื่อไล่ความชื้น
ระดับ C น้ำท่วมถึงส่วนล่างของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อม 25,000-30,000 บาท มีรายการที่ต้องดำเนินการ 39 รายการ โดยเพิ่มเติมจาก ระดับ A และ B คือ ตรวจสอบชุดอีโมไรท์เซอร์/ระบบ GPS (ที่ติดมากับรุ่นรถ) ตรวจสอบไล่น้ำออกจากเครื่องยนต์ ท่อไอดี ห้องเผาไหม้ ตรวจสอบลูกปืนไดชาร์ท ลูกรอก ตรวจสอบทำความสะอาดระบบไฟส่องสว่าง (ไฟหน้า-ท้าย-เลี้ยว) ตรวจเช็คระบบขับเลี้ยวไฟฟ้า ถอดตรวจเช็คตู้แอร์ มอเตอร์ โบวเวอร์ เซ็นเซอร์ ถอดหน้าปัดเรือนไมล์ เกจ์ ถอดตรวจเช็คระบบไฟฟ้าและสายไฟขั้วต่างๆ ตรวจเช็คระบบเครื่องเสียง-วิทยุ-แอมป์-ลำโพง ตรวจเช็คระบบเบรก (ABS) ตรวจชุดหม้อลมเบรก/ แม่ปั้มบน-ล่าง ตรวจสอบลูกปืนล้อ-ลูกหมาก-ลูกยางต่างๆ ผ้าหลังคา/แมกกะไลท์
ระดับ D น้ำท่วมถึงส่วนบนของคอนโซลหน้า ประเมินค่าซ่อมเริ่มต้นที่ 30,000 บาทขึ้นไป มีรายการที่ต้องดำเนินการ 40 รายการ โดยเพิ่มเติมจาก ระดับ A – C มา 1 รายการ คือ ทำสี (กรณีสีรถได้รับความเสียหาย) ซึ่งในกรณีนี้ทางบริษัทผู้รับประกันภัยอาจพิจารณาคืนทุนประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยก็ได้
และระดับ E รถยนต์จมน้ำทั้งคัน ซึ่งในกรณีนี้บริษัทผู้รับประกันภัยจะคืนทุนประกันภัยให้กับผู้รับประกันภัยสถานเดียว
ทั้งนี้จากรายงานดังกล่าว พบว่า รถยนต์ส่วนใหญ่ 70% จากจำนวน 3,155 คัน ถูกน้ำท่วมในระดับ A-B จึงกำชับให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวเร่งรัดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่จะได้รับความคุ้มครองกรณีภัยจากน้ำท่วมต้องเป็นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 หรือ ประเภท 3 หรือประเภท 2+ หรือ 3+ ที่ซื้อความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ (ภัยน้ำท่วม) เพิ่มเติม ก็จะได้รับความคุ้มครองเช่นกัน สำหรับประชาชนซึ่งรถยนต์ที่เสียหายไม่ได้ทำประกันหรือประกันภัยไม่ครอบคลุมก็สามารถใช้แนวปฎิบัติตามมาตรฐานการซ่อมรถยนต์ข้างต้น ในการป้องกันมิให้อู่ซ่อมรถยนต์เรียกค่าซ่อมเกินความเป็นจริง อย่างไรก็ตามเนื่องจากภัยน้ำท่วมเป็นเรื่องที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นและก่อความเสียหายได้อีก จึงขอแนะนำให้ประชาชนบริหารความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัย โดยในส่วนของประกันภัยรถยนต์ควรเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วมด้วย ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเคลมประกันภัยจากบริษัทประกันภัย สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186