โปรโมชั่น สมัครประกันชีวิตออนไลน์ ขายประกันชีวิต ประกันออนไลน์ สมัครประกันออนไลน์ ประกันชีวิต สมัครประกันชีวิต ประกันชีวิตออนไลน์
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถิติตั้งแต่ปี 2532-2559 เกิดเหตุอัคคีภัยจำนวนกว่า 52,000 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 4,532 คน และมีผู้เสียชีวิต 1,740 คน ก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 31,000 ล้านบาท ประกอบกับปัจจุบันการเกิดอัคคีภัยมีแนวโน้มเพิ่มความถี่และความรุนแรงมากขึ้น สำนักงาน คปภ. จึงมีความห่วงใยและต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนวาระ “ประเทศไทยปลอดภัย”อย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานการจัดการอัคคีภัยของประเทศด้วยการใช้ระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารความเสี่ยง ดังนั้นจึงได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างทั่วถึงและได้รับสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัยได้อย่างครบถ้วนและเป็นธรรม
ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลสถิติและสภาวการณ์ของการประกันอัคคีภัยในปัจจุบัน สำนักงานคปภ.จึงได้หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยในการดำเนินการปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยจนได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งต่อมาเลขาธิการคปภ.ในฐานะนายทะเบียนได้ออกคำสั่งนายทะเบียน 3 ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2560 ได้แก่ คำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2560 เรื่อง แก้ไข เปลี่ยนแปลง อัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยตามลักษณะของภัย สำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย คำสั่งนายทะเบียนที่ 15/2560 เรื่อง แก้ไข เปลี่ยนแปลงอัตราเบี้ยประกันภัย (รายปี) สำหรับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย และคำสั่งนายทะเบียนที่ 16/2560 เรื่อง แก้ไข เปลี่ยนแปลง อัตราเบี้ยประกันอัคคีภัย และอัตราเบี้ยประกันภัยการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน โดยการปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560
สำหรับการปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยตามคำสั่งนายทะเบียนข้างต้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนแรก การประกันอัคคีภัยสำหรับอุตสาหกรรม (นอกเหนือจากที่อยู่อาศัย)จะมีการปรับลดอัตราเบี้ยประกันอัคคีภัย 10% ทุกลักษณะภัยที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำกว่า 50 ล้านบาท และจำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปไม่มีการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยขั้นต่ำ โดยกำหนดเฉพาะอัตราเบี้ยประกันภัยขั้นสูงที่ 2.375% เท่านั้น
ส่วนที่สอง การประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งมีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มลักษณะภัยอื่น รวมถึงเกี่ยวข้องกับประชาชนผู้เอาประกันภัยจำนวนมาก และมีความเสียหายที่เกิดขึ้นในอัตราส่วนที่ต่ำ โดยเห็นได้จากในปี 2558 ได้มีการขยายความคุ้มครองภัยธรรมชาติสำหรับการประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย จำนวน 4 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว และภัยลูกเห็บ ในวงเงินจำกัดความรับผิดไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราค่าสินไหมทดแทนสูงขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการปรับลดอัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยลง 15%
“สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงการทำประกันภัยในทุกมิติ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดประกันอัคคีภัย จึงได้เชิญสมาคมประกันวินาศภัยไทยมาหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยให้มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ของตลาดและการแข่งขัน ตลอดจนความต้องการของประชาชนในปัจจุบัน เพื่อให้การคิดอัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วนได้อย่างครบถ้วน จึงเป็นที่มาของการปรับลดอัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยสำหรับอุตสาหกรรม 10% และปรับลดอัตราเบี้ยประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยลง 15% ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและการแข่งขันของตลาดประกันอัคคีภัยโดยรวมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีอัตราเบี้ยประกันภัยในอนาคตอีกด้วย”ดร.สุทธิพลกล่าวในที่สุด
เลขาธิการ คปภ. สั่งการสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ได้รับความเดือดร้อน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
เนื่องจากปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดำรงสินทรัพย์สำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 51 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการถอนเงินในบัญชีธนาคารของบริษัทให้กับกรรมการและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท มีการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท ทำให้รายงานทางการเงินของบริษัทขาดความน่าเชื่อถือ อีกทั้งบริษัทค้างชำระค่าปรับตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบ จึงเป็นกรณีที่บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะการเงินหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน และมีเหตุสมควรที่จะสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว
โดยบอร์ด คปภ. พิจารณาจากพฤติการณ์และหลักฐานต่างๆ โดยละเอียดแล้ว เห็นชอบให้นายทะเบียนใช้อำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และให้บริษัทเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงาน โดยกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้ 1. ให้บริษัทฯ แต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ และคณะผู้บริหาร ที่มีความรู้ความสามารถ 2. ให้บริษัทฯ ปรับปรุงการบันทึกรายการบัญชีให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง เพื่อให้งบการเงินของบริษัทมีความน่าเชื่อถือ และผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต 3. ให้บริษัทฯ จัดให้มีระบบควบคุมภายใน การสอบทาน และการคานอำนาจของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการชุดย่อย ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยจัดให้มีคู่มือการปฏิบัติงานชัดเจนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งให้มีการทดสอบระบบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 4. ให้บริษัทฯ จัดให้มีแผนธุรกิจ แผนบริหารความเสี่ยง และแผนการดำเนินงานที่สำนักงานเห็นชอบให้มีความน่าเชื่อถือ สามารถปฏิบัติได้ โดยมีการจัดให้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบ 5. ให้บริษัทฯ ต้องดำรงทรัพย์สินสำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัทเงินสำรองค่าสินไหมทดแทนและเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23 และต้องจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4 ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และ 6. บริษัทฯ ต้องชำระค่าปรับให้ครบถ้วนตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบ
ทั้งนี้ ให้บริษัทฯ แก้ไขและดำเนินการตามเงื่อนไขข้างต้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สำหรับกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎหมาย เลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการให้สายกฎหมายและคดีดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า “การสั่งให้ บมจ. สัจจะประกันภัย หยุดรับประกันภัยจะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัย เนื่องจากอุตสาหกรรมประกันภัยในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงขอให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยไม่ต้องวิตกกังวล ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามปกติ เพียงแต่ไม่สามารถรับลูกค้ารายใหม่ได้ ผมได้ย้ำให้สำนักงาน คปภ. เน้นการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประการสำคัญ โดยได้สั่งการไปยังสายตรวจสอบและสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตลอดจนสำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด และสำนักงาน คปภ. เขต รวม 71 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ทำการตรวจสอบสาขา/สำนักงานตัวแทนของ บมจ. สัจจะประกันภัย ที่ตั้งอยู่ในเขตรับผิดชอบและให้ดำเนินการแจ้งการสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทฯ ออกกรมธรรม์รายใหม่และในระหว่างการหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัทฯ เพื่อควบคุมดูแลให้บริษัทฯ ดำเนินการตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดแล้ว” หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ โปรโมชั่น เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวในการเปิดงานการประชุมกรรมการบริษัทประกันภัย และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายของสำนักงาน คปภ. ต่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance)” ว่า กระบวนการที่จะนำธุรกิจประกันภัยไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ดังจะเห็นได้จากในอดีตที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยที่ประสบปัญหาการดำเนินงาน มักเกิดจากการขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า สำนักงาน คปภ. กำลังจะเข้าสู่การประเมินภาคการเงิน (Financial Assessment Program หรือ FSAP) ร่วมกับหน่วยงานกำกับภาคการเงินอื่นๆ โดยการประเมินจะยึดตามหลักการ Insurance Core Principles ซึ่งบรรจุหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีไว้ด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่ครอบคลุมทั้งโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี บทบาทหน้าที่และคุณสมบัติของกรรมการบริษัท อีกทั้งจะดำเนินการปรับปรุง Code of Conduct ครั้งใหญ่ เพื่อกำหนดกรอบจรรยาบรรณให้บริษัทประกันภัยนำไปปฏิบัติ นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. กำลังอยู่ระหว่างการให้กรรมการบริษัทจัดทำแบบสอบถามประเมินตนเอง (Compliance Self-Assessment) โดยมุ่งเน้นไปที่ บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท โดยเฉพาะด้านการสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน การปฏิบัติตามกฎหมาย และพฤติกรรมตลาด โดยจะนำผลการมีส่วนร่วมของกรรมการบริษัทนี้มาเป็นเกณฑ์หนึ่งในการมอบรางวัลบริษัทประกันภัยดีเด่น ประจำปี 2559 ซึ่งถือเป็นปีแรกในวงการอุตสาหกรรมประกันภัย
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสถาบันกรรมการบริษัทไทย ได้กล่าวถึงความท้าทายในการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธุรกิจประกันภัย ซึ่งกรรมการมืออาชีพควรจะต้องเตรียมรับความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างความเชื่อ (Trust) การเผชิญกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และความล้มเหลวในเชิงระบบ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ธุรกิจประกันภัยต้องหาคำตอบ
นางสาววราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการด้านกำกับ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มความเสี่ยงในธุรกิจประกันภัยที่กรรมการบริษัทควรให้ความสำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง และความเสี่ยงด้านบุคลากร และเสนอให้บริษัทประกันภัยมีความตื่นตัวในการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลิตภัณฑ์ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกำกับดูแลความเสี่ยงของธุรกิจ
นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านตรวจสอบ ได้กล่าวถึงการแข่งขันในธุรกิจประกันภัยในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคาดหวังให้กรรมการบริษัทตระหนักถึงการกำกับดูแลกิจการเพื่อความยั่งยืนและดูแลผู้เอาประกันภัยอย่างเป็นธรรม และอยู่ในกรอบของกฎหมายและกฎระเบียบ และเน้นย้ำให้กรรมการบริษัทเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการนำการตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT audit) มาใช้อย่างจริงจัง
การประชุมคณะกรรมการบริษัทประกันภัยในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของสำนักงาน คปภ. ที่ใช้เป็นเวทีในการสื่อสารนโยบายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อสร้างความเติบโตมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่ธุรกิจประกันภัยไทย
คปภ. ผนึกกำลังภาคธุรกิจประกันภัย จัดประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2560 (CEO Insurance Forum 2017) มุ่งขับเคลื่อนนโยบายการประกันภัยในยุคดิจิทัล รักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัย และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัลในอุตสาหกรรมประกันภัย ผ่านการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงเพิ่มบทบาทของธุรกิจประกันภัยให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกล่าวเปิดการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2560 (CEO Insurance Forum 2017) และได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บริบทใหม่กับการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล” โดยย้ำว่า บริบทของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนไปจากเดิม ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของคนในสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้น ประกอบกับนโยบายของภาครัฐซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจประกันภัย อาทิ การสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปฏิวัติรูปแบบการทำธุรกิจหรือที่เรียกกันว่า “InsurTech” ทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์ประกันภัย การให้บริการ การบริหารจัดการ รวมไปถึงสร้างช่องทางการเข้าถึงผู้เอาประกันภัยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะต้องมีการกำกับดูแลระบบประกันภัยให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โดยสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยควรใช้ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบริบทของการแข่งขันนี้ผลักดันให้ธุรกิจประกันภัยมีการขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน และได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน ตลอดจนสามารถเพิ่มบทบาทในระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพที่ดีของประชาชนผ่านระบบประกันภัย
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ซึ่งมีการจัดประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2559 โดยผลจากการประชุมครั้งแรกนั้นได้นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย อาทิ การปรับปรุงกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย โดยครอบคลุมถึงการป้องกันการฉ้อฉลในธุรกิจประกันภัย การออกประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 และประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การชดใช้เงินและค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560
สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการจัดประชุม CEO Insurance Forum ครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นการต่อยอดจากผลการประชุมครั้งแรก โดยนอกจากการแสดงปาฐกถาพิเศษของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การกำกับธุรกิจประกันภัยในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” โดย ดร. กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ซึ่งพูดถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้นโยบาย “Thailand 4.0” ความท้าทายของธุรกิจประกันภัย ตลอดจนทิศทางในการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยเพื่อจะยกระดับมาตรฐานสู่สากล
นอกจากนี้อีก Highlight ที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายระดมความคิดเห็นมาสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มย่อยที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนากฎหมาย การควบคุมและการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยในยุคดิจิทัล” มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการ ฉ้อฉลประกันภัย ที่เหมาะสมภายใต้บริบทของกฎหมาย ประเด็นหลักในการประชุม ประกอบด้วย ข้อมูลรูปแบบหรือปัญหาเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เคยประสบหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ขอบเขตของร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย เกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย และประกาศ คปภ. ว่าด้วยการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และกลไกหรือมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย
กลุ่มย่อยที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “การกำกับและพัฒนาธุรกิจประกันภัยด้วย Regulatory Sandbox” มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแผนในการกำกับและดำเนินธุรกิจในอนาคต รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับภาคธุรกิจ และบริษัท Fintech เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมในต่างประเทศ โดยมีประเด็นหลักในการประชุม คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ Insurance Regulatory Sandbox ของบริษัทประกันภัย และแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรมประกันภัย อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพ
กลุ่มย่อยที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำธุรกิจประกันภัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสและมุมมองใหม่ ๆ ให้กับผู้บริหารระดับสูง และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีที่ดี เพื่อให้บริษัทนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นหลักในการประชุม คือ การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ.
กลุ่มย่อยที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “การยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์” มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับการกำกับพฤติกรรมทางตลาดและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ประเด็นหลักในการประชุม คือ แนวทางและบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาการกำกับและตรวจสอบคนกลางประกันภัย และการควบคุมคุณภาพการให้บริการ การพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการสินไหม และการจัดการเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยแก่ประชาชน
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังได้เปิดเวทีเสวนาเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) และบทบาทหน้าที่ของกรรมการในธุรกิจประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง โดยผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และได้รับเกียรติจาก ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) บรรยายในหัวข้อเรื่อง “กรรมการมืออาชีพกับความสำเร็จของธุรกิจ” เพื่อให้กรรมการของบริษัทต้องมีการบริหารจัดการที่ดีมีธรรมาภิบาลในองค์กร และมีความรับผิดชอบที่พึงมีต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การประชุม CEO Insurance Forum 2017 ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในธุรกิจประกันภัย ในการผนึกกำลังขับเคลื่อนนโยบายการประกันภัยสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งทุกความคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะจะนำมาใช้แบบบูรณาการเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย มีการพัฒนาอย่างก้าวหน้า ทั้งนี้ กฎกติกาและการบริหารจัดการจะต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ ได้แก่ ความสมดุล ความยืดหยุ่น และการปรับตัวให้เหมาะสม รวมทั้งการทำงานในเชิงรุก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อไปในอนาคต
คปภ.บูรณาการความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและมูลนิธิเมาไม่ขับ ผนึกกำลังกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย จัดกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน “สงกรานต์ปีนี้เดินทางสุขใจ ด้วยการประกันภัย” มุ่งเป้าลดการสูญเสียตามกรอบปฏิญญามอสโก ซึ่งกำหนดให้ปี 2554 – 2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน โดยรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับ พร้อมผุดมาตรการแบบครบวงจรส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยอย่างจุใจ ทั้งมาตรการส่วนลดเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) มาตรการสนับสนุนให้ประชาชนจัดทำประกันภัยรถยนต์ตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ปลอดแอลกอฮอล์ เพื่อรับส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัย มาตรการ “รถชนแล้ว ถ่ายรูปไว้ แยกได้ ไม่ต้องรอ” รวมถึง ส่งมอบของขวัญชิ้นพิเศษประกันภัย 222 ให้ความคุ้มครอง 100,000 บาท พ่วงค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ 5,000 บาท เปิดจำหน่ายจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ร่วมกันกำหนดแผนบูรณาการการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2560 ขึ้น โดยมุ่งเน้นการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ใช้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งจากคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อม โดยมีหัวข้อการรณรงค์ คือ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ซึ่งมีเป้าหมายการดำเนินงานคือ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2560 และจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้ลดลงเหลือน้อยที่สุด ซึ่งสำนักงาน คปภ.ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนดังกล่าว จึงได้ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย จัดโครงการรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560ภายใต้ธีม “สงกรานต์ปีนี้เดินทางสุขใจด้วยการประกันภัย”เพื่อสร้างจิตสำนึกสร้างวัฒนธรรมที่ดีในการขับขี่อย่างปลอดภัย และตระหนักในการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยมีนายกอบชัยฉัตรชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)และนายมนต์ชัย ทัพไชย กรรมการมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้เกียรติเข้าร่วมใน พิธีเปิดพร้อมร่วมแถลงข่าว ณ ที่ทำการสำนักงาน คปภ.
ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ.ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการการดูแลผู้ประสบภัยจากรถให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงทีรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม ทั้งนี้ได้มีการบูรณาการความร่วมมือทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยส่วนกลางได้จัดกิจกรรมรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนภายในองค์กร ทั้งสำนักงาน คปภ.แลภาคอุตสาหกรรมประกันภัย โดยให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามมาตรการองค์กรอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ได้มีการมอบหมวกนิรภัยให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้สวมใส่ทุกครั้งเมื่อขับขี่ รถจักรยานยนต์ สำหรับในส่วนภูมิภาค ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ดำเนินงานแบบบูรณาการกับ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานศูนย์ประจำจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อรณรงค์การขับขี่อย่างปลอดภัย รวมทั้งให้บริการประชาชนตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในขณะเดียวกันก็จะขับเคลื่อนความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อย่างเข้มข้น ซึ่งมีกรอบดำเนินการร่วมกันใน 4 บทบาทหลัก คือ การร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตามแผนทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยรถภาคบังคับ และการประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ตลอดจนให้คำแนะนำ เกี่ยวกับข้อกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล และให้ความร่วมมือระหว่างกันในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้ความร่วมมือกับรัฐในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและเห็นความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงโดยใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือ โดยได้ร่วมมือกับมูลนิธิเมาไม่ขับและองค์กรภาครัฐอื่นๆ ในการออกมาตรการต่างๆด้านประกันภัยเพื่อช่วยในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและส่งเสริมให้คนเมาแล้วไม่ขับรถ
ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์แห่งความสุขที่จะถึงนี้สำนักงาน คปภ.ได้จัดเตรียมมาตรการส่งความสุขด้านการประกันภัยให้กับประชาชนไว้มากมายด้วยกัน ประกอบด้วยมาตรการลดเบี้ยประกันภัยสำหรับผู้ติดตั้งกล้อง CCTV ในรถยนต์ที่เอาประกันภัย ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 8/2560 เรื่อง การใช้อัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ สำหรับรถยนต์ที่ติดตั้งกล้องวงโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ติดตั้งกับรถยนต์ ให้บริษัทประกันภัยให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยในการรับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ทุกประเภทเป็นส่วนลดอื่นในอัตราร้อยละ 5 – 10 ของเบี้ยประกันภัยสุทธิ เพื่อส่งเสริมให้เจ้าของรถมีการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (Closed – Circuit Television : CCTV) ที่ติดตั้งกับรถยนต์ อันเป็นอุปกรณ์ที่มีส่วนช่วยในการตรวจสอบวินัยจราจร อีกทั้งใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันการกระทำความผิดจากการใช้รถยนต์
รวมทั้งยังออกมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนละเว้นการเมาแล้วขับรถด้วยการออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2560 ให้แก้ไขแบบข้อความกรมธรรม์ประกันภัยและเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัย โดยปรับลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ซึ่งจากเดิมระบุว่า “การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์” แก้ไขเป็น “การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์”ให้ถือว่า “เมาสุรา” ผลก็คือ กรณีมีผู้ขับขี่รถยนต์คันเอาประกันภัยภาคสมัครใจ ขณะเกิดอุบัติเหตุมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมปอร์เซ็นต์จะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่บุคคลภายนอกยังได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินเหมือนเดิม โดยเมื่อบริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายแล้ว ก็จะไปไล่เบี้ยเรียกร้องจากผู้เอาประกันภัยที่เมาสุราต่อไป ซึ่งคำสั่งนี้จะมีผลใช้บังคับสำหรับการทำสัญญาประกันภัยภาคสมัครใจตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ คปภ. ยังได้มีการรณรงค์และสนับสนุนให้ประชาชนจัดทำประกันภัยรถยนต์ ตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ปลอดแอลกอฮอล์ โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภทเป็นส่วนลดอื่นในอัตราร้อยละ 10 ของเบี้ยประกันภัยสุทธิ เพียงแค่ผู้เอาประกันภัยแจ้งกับบริษัทที่รับประกันภัยว่าขอเพิ่มเติมสัญญาแนบท้ายตัวนี้เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าผู้เอาประกันภัยจะขับขี่รถยนต์โดยปลอดแอลกอฮอล์ก็จะได้รับส่วนลดทันที่ร้อยละ 10 ซึ่งขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้เอกสารแนบท้ายและอัตราเบี้ยประกันภัย ปลอดแอลกอฮอล์นี้แล้วทั้งสิ้น 10 บริษัท ประกอบด้วย บมจ. เทเวศประกันภัย บมจ. ทิพยประกันภัย บมจ. สมโพธิ์ เจแปน นิปปอนโคอะ ประกันภัย บมจ.ไทยศรีประกันภัย บมจ.อาคเนย์ประกันภัย บมจ.ไทยประกันภัย บมจ.กรุงเทพประกันภัย บมจ.ชับบ์สามัคคีประกันภัย บมจ. เมืองไทยประกันภัย และบมจ. ประกันภัยไทยวิวัฒน์
อีกทั้งสำนักงาน คปภ. มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีหลักประกันความคุ้มครองอุบัติเหตุให้กับตนเองและครอบครัวโดยเฉพาะการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยส่งมอบของขวัญชิ้นพิเศษสุด ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบพิเศษ เรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสงกรานต์สุขใจ พลัส” หรือ “ประกันภัย 222” ซึ่งถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเทศกาลสุขใจ หรือ ประกันภัย 100 ด้วยเบี้ยประกันภัยเพียง 222 บาทต่อปี โดยไม่ต้อง “ตาย” ก็สามารถได้รับประโยชน์จากประกันภัยซึ่งจะให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากอุบัติเหตุไม่เกิน 5,000 บาทต่อปีเพิ่มเติมมาด้วย
ดร.สุทธิพล ในตอนท้ายว่า ด้วยความห่วงใยต่อประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 ที่กำลังจะมาถึงนี้ สำนักงาน คปภ. อยากฝากเตือนผู้ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือการเดินทางท่องเที่ยว ให้ขับขี่ยานพาหนะด้วยความไม่ประมาท คาดเข็มขัดนิรภัย ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมสภาพร่างกายและตรวจสภาพรถให้พร้อม และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญก่อนการเดินทางคือการตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัย และวันหมดอายุของการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ด้วย แม้ว่าการทำประกันภัย ไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่หากเกิดอุบัติเหตุแล้ว การประกันภัยสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของท่านได้ ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันอันตราย สำนักงาน คปภ. ได้เปิดให้บริการรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการประกันภัยตลอด 24 ชั่วโมงทางสายด่วน คปภ. 1186