muangthaiagent.vip ประกันชีวิตออนไลน์ สมัครประกันชีวิตออนไลน์ ที่ปรึกษาวางแผนสุขภาพและการเงิน เมืองไทยประกันชีวิต วางแผนการเงิน ที่ปรึกษาการเงิน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน จัดงานสัปดาห์ประกันภัย ประจำปี 2560 (Insurance Expo 2017) ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีประกันภัย เชื่อมต่อโอกาสและความท้าทาย เพื่ออนาคตไทย” (InsurTech Connect : Opportunities and Challenges for Thailand Future) ระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2560 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ห้องเพลนารี 1 – 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
โดยงานส่วนแรกจะเป็น”พิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร” (Prime Minister’s Insurance Awards) ซึ่งเป็นถ้วยรางวัลเดียวในภาคธุรกิจประกันภัยของไทยที่ได้รับเกียรติจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สลักชื่อให้เพื่อเป็นเกียรติกับรางวัลต่างๆ จึงถือได้ว่าเป็นถ้วยรางวัลที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับ ผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล ซึ่งในปีนี้ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ท่านอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของเทคโนโลยีประกันภัยสู่อนาคตประเทศไทย”พร้อมทั้งให้เกียรติมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์กับ สำนักงาน คปภ. และระบบการประกันภัย
โดยมีรางวัลรวมทั้งสิ้น 14 ประเภท จำนวน 69 รางวัล อาทิ บริษัทประกันภัยดีเด่น ตัวแทน นายหน้าประกันภัยคุณภาพดีเด่น อาสาสมัครประกันภัยดีเด่น ยุวชนประกันภัยดีเด่น เป็นต้น ทั้งนี้พิธีมอบรางวัลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบรรทัดฐานและแบบอย่างที่ดีในการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงเป็นการเชิดชูเกียรติองค์กร หน่วยงาน สถาบัน บุคคลหรือกลุ่มบุคคลตัวอย่างดีเด่นในด้านการเป็นผู้ประกอบการ การประกอบวิชาชีพ การให้บริหารด้านการประกันภัย การเผยแพร่ความรู้ การส่งเสริมพัฒนาการประกันภัยของประเทศ รวมถึงผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับสำนักงาน คปภ. ทั้งนี้การคัดเลือกผู้ที่จะได้รับรางวัลประกันภัยดีเด่น สำนักงาน คปภ. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร และคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การมอบรางวัลประกันภัยดีเด่น โดยมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการพิจารณาอย่างเข้มข้นและเป็นธรรมภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ สำหรับงานส่วนที่สองเป็นส่วนของ Insurance Expo 2017 ซึ่งในปีนี้จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปีเนื่องจากเป็นปีที่สำนักงาน คปภ. เปิดทำการครบรอบทศวรรษ โดยไฮไลท์ของงานสัปดาห์ประกันภัยปีนี้จะเป็นการนำเสนอแนวคิดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล และเป็นการเชื่อมต่อธุรกิจประกันภัยให้ทันกับยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะมีการออกบูธนิทรรศการของบริษัทประกันภัย ธนาคาร บริษัทนายหน้าประกันภัย และบูธของสำนักงาน คปภ.แล้ว ยังมีการออกบูธของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ หรือ Tech Firms ของประเทศ เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมโอกาสจับคู่ธุรกิจ (Matching) ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และพัฒนาเทคโนโลยีประกันภัยให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคนไทย ในปัจจุบัน ซึ่งจะตื่นตาตื่นใจไปกับนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านการประกันภัยแบบครบวงจรครั้งแรกในประเทศไทย อาทิ การนำเสนอ “InsurTech Showcase” ของผู้บริหารจากบริษัทประกันภัยชั้นนำด้าน InsurTech ในประเทศไทย การเปิดตัวนวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัยใหม่ล่าสุดของหน่วยงานกำกับดูแล ภายในบูธสำนักงาน คปภ. อาทิ Application Motor Risk การนำเสนอเขตอัคคีภัยใหม่ (Digital Fire Block from OIC) การนำเสนอข้อมูลดาวเทียม GISTDA เพื่อเชื่อมโยงกับนโยบายการประกันภัยข้าวนาปี การนำเสนอข้อมูลประกันภัยไซเบอร์ (Cyber Insurance) การจัดประกวดนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการประกันภัยแนวใหม่ “OIC Insurance Innovation Challenge 2017” ของกลุ่มนักศึกษา และผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในประเทศไทย การทำ InsurTech Matching เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดต่อยอด และจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้บริหารจากบริษัทประกันภัยและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ
นอกจากนี้ผู้ร่วมงานสัปดาห์ประกันภัย ยังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กรมธรรม์ราคาพิเศษลดสูงสุด 30% ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยการเดินทาง รวมทั้งกรมธรรม์ประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ เช่น กรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ ประกันภัยอุบัติเหตุวันประกันภัยสุขใจ (ประกัน100/ประกัน 222) ประกันภัยเพื่อคนพิการ ประกันภัยสัตว์เลี้ยง ประกันภัยโจรกรรม ประกันภัยมือถือ ฯลฯ อีกทั้งผู้เข้าชมงานสัปดาห์ประกันภัยยังได้เติมเต็มองค์ความรู้ด้านประกันภัยผ่านกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับเทคโนโลยีประกันภัย เช่น การปาฐกถาพิเศษหัวข้อ InsurTech Connect : Opportunities and Challenges for Thailand Future การบรรยายหัวข้อ “Disruption and the rise of InsurTech” และการบรรยายหัวข้อ “Cyber Insurance : A Risk Management Tool in Digital Era” โดยคณะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากต่างประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้นผู้เข้าร่วมงานสัปดาห์ประกันภัยยังได้รับสิทธิร่วมเล่นเกมส์ลุ้นรับของรางวัล“รถยนต์ Honda Jazz รุ่น VA/T 1 รางวัล มูลค่า 654,000 บาท” Ipad pro/ โทรศัพท์มือถือ HUAWEI รุ่น P10 Plus/ กล้องดิจิตอล Fujifilm x-a10/ Fitbit สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพ/ ลำโพงไร้สาย JBL รุ่น Flip3 และของรางวัลอื่นๆ อีกหลายรายการและเพลิดเพลินไปกับความบันเทิงแบบกระทบไหล่ ดารา นักร้อง ศิลปินชั้นนำทั่วฟ้าเมืองไทยแบบเต็มอิ่มจุใจ ชนิดที่เรียกว่า มางานเดียว ทั้งคุ้ม ทั้งครบ จบในที่เดียว กับงานสัปดาห์ประกันภัย ประจำปี 2560 (Thailand Insurance Expo 2017)
“งานสัปดาห์ประกันภัยในปีนี้ muangthaiagent.vip นอกจากผู้ร่วมงานจะได้รับความรู้ ความเข้าใจครบเครื่องเกี่ยวกับประกันภัยอย่างครบวงจรแล้ว ยังจะได้พบกับความตื่นตาตื่นใจไปกับนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านประกันภัย จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ ราคาประหยัด รวมทั้งได้รับความบันเทิงจาก ดารา/ศิลปิน/นักร้อง และลุ้นรับของรางวัล อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพต่างๆ อีกมากมาย ผู้สนใจจะเข้าร่วมงานสัปดาห์ประกันภัยในครั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดรวมทั้งข้อมูล ข่าวสารของการจัดงานได้ทาง Website : www.oic.or.th และสื่อออนไลน์ทางช่องทางต่างๆ ทั้งจาก Website หรือ Facebook : Thailand Insurance Expo 2017 หรือทางแอพพลิเคชั่น ZipEvent อย่าพลาดงานสัปดาห์ประกันภัยประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 22-24 กันยายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มางานเดียว ทั้งคุ้ม ทั้งครบ จบในที่เดียว ครับ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในที่สุด
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในเวทีสุดยอด “จีน – อาเซียน” ว่าด้วยความร่วมมือและพัฒนาการด้านประกันภัย (The 3rd China-ASEAN Summit Forum on Insurance Cooperation and Development) ณ นครหนานหนิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6-7 กันยายน 2560 จัดโดยคณะกรรมการการประกันภัยของสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Insurance Regulatory Commission หรือ CIRC) ซึ่งเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 3 มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยจากภูมิภาคเอเชียและอาเซียน รวม 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไทย พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว บังคลาเทศ และศรีลังกา โดยการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทัศนะในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เท่าทันความรุดหน้าของเทคโนโลยีและภูมิทัศน์ทางธุรกิจประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในกระแสโลก ซึ่งดร.สุทธิพลได้รับเกียรติให้นำเสนอพัฒนาการด้านประกันภัยและการกำกับดูแลระบบประภัยของประเทศไทยในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย
ในโอกาสนี้เลขาธิการคปภ.ได้ขึ้นกล่าวในเวทีของที่ประชุมมีใจความสำคัญว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้เร่งพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้ทันสมัยและเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อเตรียมพร้อมเข้ารับการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program : FSAP) ที่จะเกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 โดยสำนักงาน คปภ. ยึดหลักการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็นภายใต้หลักการ “Regulating as necessary, not whenever possible
ที่ผ่านมาได้มียกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันไปหลายฉบับ ในขณะเดียวกันก็ได้ปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัย และออกกฎหมาย กฎระเบียบใหม่ๆ ที่จำเป็นและยังขาดอยู่ โดยมุ่งเน้นให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญของระบบประกันภัยอย่างครบวงจร ทั้งการยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance Act) จนสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา และการออกกฎระเบียบที่สำคัญอื่นๆ อาทิเช่น การกำหนดมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย (ERM) ให้ครอบคลุมบทบาทคณะกรรมการบริษัท โครงสร้างการบริหารความเสี่ยงที่ดี และการบริหารความเสี่ยงที่สอดรับกับวัตถุประสงค์และการดำเนินงานของบริษัท
เลขาธิการ คปภ.ยังกล่าวต่อไปว่าปัจจุบัน การพัฒนาของเทคโนโลยีและ InsurTech ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด สำนักงาน คปภ. จึงยกระดับการกำกับดูแลพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในธุรกิจประกันภัยไทย โดยเมื่อกลางปี 2560 ประเทศไทยได้ออกประกาศ E-insurance เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบประกันภัยมีความถูกต้องเชื่อถือได้ มีมาตรฐานการควบคุมดูแลความเสี่ยงที่ดี และที่สำคัญคือ ผู้เอาประกันภัยและประชาชนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ในด้านความเสี่ยงทางไซเบอร์ สำนักงาน คปภ. ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยมีการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยไซเบอร์ (Cyber insurance) เพื่อเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้กับภาคการเงิน รวมถึงเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัย start up และบริษัทฟินเทคต่างๆ สามารถนำนวัตกรรมมาทดลองใช้ในการประกันภัยภายใต้โครงการ Regulatory sandbox ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการหลายรายด้วยกัน
นอกจากการส่งเสริมการประกันภัยที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว สำนักงาน คปภ. ก็ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการทำประกันภัยพืชผล (crop insurance) ด้วย โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ในการช่วยเหลือให้เกษตรกรไทยจัดทำประกันภัยข้าวนาปี เพื่อให้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง จากภัยทางธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศร่วมกว่าหนึ่งล้านราย
ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ปัจจุบัน สำนักงาน คปภ. ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยของประเทศต่างๆ กว่า 9 ประเทศ ซึ่งก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การกำกับดูแลร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดประโยชน์ในการนำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดไปปรับใช้ในการกำกับดูแลระบบประกันภัยของไทยนอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยไทยไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียน อาทิเช่น อินโดนีเซีย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ย้ำว่า “การเข้าไปทำธุรกิจ ในประเทศอาเซียน มิใช่เป็นการลงทุนเพื่อผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการลงทุนเพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการประกันภัยให้กับพันธมิตร เพื่อให้ระบบการประกันภัยในภูมิภาคอาเซียนมีการพัฒนาไปด้วยกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่” ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุม
ดร.สุทธิพล ได้สอบถามผู้แทน CIRC ถึงการจัดตั้ง Financial Stability and Development Committee ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผู้แทน CIRC ให้ข้อมูลว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตลาดประกันภัยมีบริษัทโฮลดิ้งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน รัฐบาลจีนจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับภาคการเงินและการติดตามดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ หรือ Systemic risk ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมของคณะกรรมการดังกล่าว
ในตอนท้ายของการนำเสนอ ดร.สุทธิพล กล่าวสรุปว่า ธุรกิจประกันภัยทั่วโลกต่างกันเผชิญกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ การฉ้อฉล และการพัฒนาของ InsurTech จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยของประเทศต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาค China-ASEAN จะต้องร่วมมือกันแบ่งปันประสบการณ์และทัศนะการกำกับดูแล เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและพัฒนาการของธุรกิจประกันภัยให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งการนำเสนอของเลขาธิการคปภ.ได้รับการชื่นชมและเป็นที่สนใจจากที่ประชุมเป็นอย่างมาก จนทำให้สื่อวิทยุโทรทัศน์ของประเทศจีนติดต่อขอสัมภาษณ์หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอในครั้งนี้
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. กับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีนางนภา เศรษฐกร รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งสำนักงาน คปภ. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จะบูรณาการความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับคนพิการ เด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัวโดยใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับกรอบความร่วมมือในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นความร่วมมือกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะให้คำปรึกษาแนะนำข้อมูล หรือข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของ พก. และกลุ่มคนพิการ ในส่วนของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จะให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุน สำนักงาน คปภ. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองของระบบการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของ พก. และกลุ่มคนพิการ
ส่วนที่สอง เป็นความร่วมมือกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) โดยสำนักงาน คปภ.จะให้คำปรึกษาแนะนำข้อมูลหรือข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการคุ้มครองสิทธิ ประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของ ดย. กลุ่มผู้ประกอบกิจการหอพัก รวมทั้งนักเรียน หรือนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพัก และกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ในส่วนของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จะให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนสำนักงาน คปภ. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย และสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองของระบบการประกันภัย ให้กับเจ้าหน้าที่ของ ดย. กลุ่มผู้ประกอบกิจการหอพัก รวมทั้งนักเรียน หรือนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพัก
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การทำ MOU ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ พม. ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ. กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมใน 5 ประการหลักๆ คือ ประการแรกมีการเชื่อมเครือข่ายระหว่างสำนักงานคปภ.กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีครอบคลุมทั่วประเทศเข้าด้วยกันเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เช่นกลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ประกอบกิจการหอพัก นักเรียน นักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพัก และการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับการประกันภัย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการและพรบ.หอพักให้กับเจ้าหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน
ประการที่ 2 ร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสม และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
ประการที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิด้านการประกันภัย โดยเจ้าหน้าที่ของ
สำนักงาน คปภ. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้ประชาชนได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม รวมทั้ง ประชาชนที่เข้าร่วมรับการอบรมความรู้ก็สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับครอบครัว ชุมชนของตนเองได้ ซึ่งเป็นแนวทางในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์เบื้องต้นของประชาชนและชุมชนได้ดียิ่งขึ้น
ประการที่ 4 เพิ่มความร่วมมือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงาน คปภ. ได้จัดทำแผนงานในปี 2561 เพื่อบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ.ภาค/จังหวัด กับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะมีแนวทางการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบสนองกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ
ประการที่ 5 สร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุก โดยสำนักงาน คปภ. ได้จัดทำโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน” โดยการลงพื้นที่รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้แก่ประชาชนในชุมชน เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้ตระหนัก เห็นคุณค่า และคุณประโยชน์ของการทำประกันภัย โดยเฉพาะประกันภัยสำหรับรายย่อย หรือ ไมโครอินชัวรันส์ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยราคาถูกเหมาะสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้สามารถเข้าถึงกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีสวัสดิการที่ครอบคลุมและเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการขับเคลื่อนโครงการต่อไป
“สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ที่มีภารกิจในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มในประเทศ ได้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเข้าถึงการประกันภัย และเลือกใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อย เพื่อให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้เข้าถึงการประกันภัย รวมถึงพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้สามารถตอบสนองการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานบางอย่าง ฉะนั้นจึงควรที่จะได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง และได้รับการส่งเสริมโอกาสการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ยังคงเดินหน้าตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 และแผนกลยุทธ์องค์กรในการเสริมสร้างความรู้ด้านประกันภัยแก่ประชาชน และพัฒนาช่องทางการสื่อสารต่างๆให้เข้าถึงประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย ซึ่งได้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดย สำนักงาน คปภ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย ซึ่งประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัย ได้แก่ สำนักงาน คปภ. ภาคหน่วยงานที่ดูแลด้านคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภาคประชาชน ได้แก่ สมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวแทนของคนพิการ ได้แก่ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ภาคที่เกี่ยวข้องกับสื่อประชาสัมพันธ์ ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และภาคองค์กรธุรกิจประกันภัย ได้แก่ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ระบบการประกันภัยมีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย รวมทั้งเพื่อเพิ่มกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลรับฟังสภาพปัญหา และระดมข้อคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานคปภ.ได้จัดประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย โดยเปิดโอกาสให้คณะกรรมการฯนำเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ สำนักงาน คปภ. ในเรื่องนโยบาย และมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย รวมทั้งกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการประกันภัย โดยที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และเห็นตรงกันว่าในการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านประกันภัย สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องประกันภัย (Insurance literteracy) ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกันหรือมาตรการที่ต้นน้ำเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชน เพราะหากประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้แล้วก็จะไม่ถูกหลอกหรือตกเป็นเหยื่อการเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทหรือคนกลางประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งมิติในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัย เนื่องจากธุรกิจประกันภัยมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้มีข้อพิพาทจากสัญญาประกันภัยเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องรับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีข้อสรุปตรงกันในเบื้องต้นให้เร่งขับเคลื่อน 5 มาตรการที่สำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย ได้แก่ มาตรการแรก การเพิ่มประสิทธิภาพการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยให้กับประชาชน โดยเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมผ่านเครือข่ายให้มากขึ้นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และองค์กรภาคประชาชน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการ รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจ และรับทราบสภาพปัญหาจากประชาชนด้านการประกันภัย
มาตรการที่ 2 การกำกับดูแลโฆษณาที่เกี่ยวกับประกันภัยเกินจริง ซึ่งปัจจุบันมีประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณา ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย พ.ศ. 2556 และประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณา ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556 ไว้แล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อให้การกำกับดูแลการโฆษณาด้านการประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรตั้งคณะทำงาน โดยเฉพาะเพื่อช่วยตรวจสอบประเด็นว่าจะเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ยังเห็นควรให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามประกาศ คปภ. เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยทางสื่อโฆษณาฯ พ.ศ. 2556 ซึ่งบัญญัติมาตั้งแต่ปี 2556 และบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วว่ามีความครบถ้วนชัดเจนหรือไม่ ถ้ามีประเด็นที่ไม่ชัดเจน ก็ให้เสนอแก้ไขปรับปรุง รวมทั้งเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนด้วย
มาตรการที่ 3 การแก้ไขปัญหาการร้องเรียนซ้ำซ้อน กรณีเมื่อมีการร้องเรียนที่ สำนักงาน คปภ. แล้วผู้ร้องเรียนไปร้องเรียนที่ สคบ. ด้วย โดยเห็นควรให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับ สคบ. เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้และให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายเลขานุการและผู้ประสานงาน
มาตรการที่ 4 การคุ้มครองผู้พิการด้านการประกันภัย เห็นควรให้สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย จัดทำคู่มือการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และปรับปรุงข้อสอบตัวแทนนายหน้าประกันภัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ รวมทั้งประสานกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในการส่งเสริมโอกาสผู้พิการให้สามารถเข้าสู่อาชีพคนกลางประกันภัยเพิ่มขึ้น อีกทั้งมอบหมายให้สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยส่งเสริมแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ สำหรับผู้พิการ นอกจากนี้เห็นควรให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ดำเนินการเชื่อมต่อระบบสายด่วนคนพิการ 1479 กับสายด่วน คปภ. 1186 เพื่อให้ผู้พิการมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประกันภัย รวมทั้งให้สายกลยุทธ์องค์กร (กลุ่มงานสื่อสารองค์กร) พิจารณาจัดทำสื่อสำหรับการให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่ผู้พิการให้เหมาะสม
และมาตรการที่ 5 ในเรื่องของการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย โดยมอบหมายให้สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค รวมทั้งสายกลยุทธ์องค์กร (กลุ่มงานสื่อสารองค์กร) ประสานกับผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ เพื่อแนะนำแนวทางการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้มีรูปแบบและเนื้อหาการนำเสนอที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนมีรูปแบบที่เข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย
“สำนักงาน คปภ. ยังคงเดินหน้าในทุกมิติเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ผ่านการสร้างเครือข่ายแบบบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เข้มแข็งและครอบคลุมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการทำประกันภัยและได้รับการคุ้มครองด้านการประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม อันจะเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมประกันภัยไทยทั้งระบบได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นเสาหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคง ยั่งยืนตลอดไป” ดร.สุทธิพล กล่าวในที่สุด