UL Plus สมัครประกันชีวิตออนไลน์ ประกันชีวิตลดหย่อนภาษี ประกันออนไลน์ สมัครประกันออนไลน์ ประกันชีวิต สมัครประกันชีวิต ประกันชีวิตออนไลน์ ขายประกันชีวิต ขายประกัน ตัวแทนประกันชีวิต
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีมาตรการเชิงรุกในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ในปี 2559-2560 ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ให้ได้รับความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเทศกาลสุขใจ (ไมโครอินชัวรันส์) หรือ ประกันภัย 100 และกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเทศกาลสุขใจ พลัส (ไมโครอินชัวรันส์) หรือประกันภัย 222 เพื่อให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองความเสี่ยงในช่วงเทศกาลต่างๆ ทั้งเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ แต่จากข้อมูลสถิติการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ในปี 2560 มีกรมธรรม์ประกันภัย 100 จำนวน 63,069 ฉบับ และกรมธรรม์ประกันภัย 222 เพียงจำนวน 14,006 ฉบับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าช่องทางที่ประชาชนเข้าถึงประกันภัยรายย่อยยังไม่มากเท่าที่ควร
ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยมากขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการด้านการประกันภัยของประชาชน โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงในการเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนาตามประเพณีไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เลขาธิการ คปภ. จึงนำแนวคิดจากกรณีกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ที่มีเบี้ยประกันภัยไม่แพง เนื่องจากคุ้มครองในช่วงระยะเวลาสั้น มาต่อยอดพัฒนาเป็นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยเพียง 10 บาท คุ้มครองเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน จนล่าสุดได้ออกคำสั่งนายทะเบียนให้ใช้แบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์อุ่นใจ (ประกันภัย 10 บาท) (ไมโครอินชัวรันส์) และอัตราเบี้ยประกันภัยแล้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท จะให้ความคุ้มครองคล้ายกับประกันภัย 100 และประกันภัย 200 โดยคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ มือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 100,000 บาท กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะมือ เท้า สูญเสียสายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จะได้รับความคุ้มครอง 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 15 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) จำนวน 5,000 บาท โดยประกันภัย 10 บาท ได้มีการปรับปรุงในส่วนอายุของผู้เอาประกันภัยซึ่งได้มีการขยายอายุของผู้เอาประกันภัยจาก 20-60 ปี เป็น 20-70 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าระบบประกันภัยได้มากขึ้น
เพื่อแนะนำกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดงานเปิดตัวกรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์อุ่นใจ (ประกันภัย 10 บาท) (ไมโครอินชัวรันส์) ในวันที่ 29 มีนาคม 2561 ณ สำนักงาน คปภ. โดยมีธีมงานย้อนยุคด้วยการแต่งกายชุดไทยประยุกต์ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เพื่อเป็นการเชิดชูขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทยๆ และมีดาราดังจากละคร “บุพเพสันนิวาส”เข้าร่วมงาน คือ ก็อต-จิรายุ ตันตระกูล ที่แสดงเป็น “หลวงสรศักดิ์” และ ปรางค์-กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล ที่แสดงเป็น “จันทร์วาด” มาร่วมเปิดตัวและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาสนใจการบริหารความเสี่ยงโดยระบบประกันภัย ในการนี้สำนักงาน คปภ. ได้ผนึกกำลังร่วมกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนให้การสนับสนุนกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท เพื่อมอบเป็นของสมนาคุณในช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้กับลูกค้า ผู้ใช้บริการสินค้า หรือลูกจ้างขององค์กร ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในเบื้องต้นได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (มอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิก PTT Blue Card ที่เติมน้ำมันในปั๊ม ปตท. และลงทะเบียนภายใน 1 – 30 เมษายน 2561) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส (มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ เอไอเอส) บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด (มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่ชำระค่าสินค้าหรือบริการ) บริษัท เทสโก้ เจเนอรัล อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่ซื้อการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ที่เคาน์เตอร์ Tesco Financial Service บริการด้านการเงินและโบรคเกอร์ ประกันภัย ที่ห้างเทสโก้ โลตัส 200 สาขาทั่วประเทศ) รวมถึงบริษัท ดาราเดลี่ จำกัด (มอบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าหนังสือพิมพ์ดาราเดลี่)
“การจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์อุ่นใจ หรือ ประกันภัย 10 บาท ครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในอุตสาหกรรมประกันภัย ที่นำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีราคาถูกที่สุดในโลกมาเชื่อมโยงกับสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการเพื่อเป็นการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงภัยให้กับประชาชน โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยกับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ และนำไปมอบให้ประชาชนที่ซื้อสินค้าอุปโภคหรือบริการตามเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการและแต่ละรายจะกำหนด โดยจะไม่มีการบวกค่าเบี้ยประกันภัยเข้าไปในราคาสินค้าหรือการให้บริการของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด”
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท ได้ด้วยการไปใช้บริการของผู้ประกอบการข้างต้นที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นกำหนด นอกจากนี้ ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการอื่นๆ ให้การสนับสนุนกรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์อุ่นใจ (ประกันภัย 10 บาท) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือวันปีใหม่ไทยมอบกรมธรรม์ประกันภัย 10 บาท เพื่อแสดงถึงความห่วงใยและความปรารถนาดีของท่านที่มีต่อพนักงานหรือลูกค้า และเพื่อเป็นการคืนกำไรให้กับสังคม โดยการนำระบบประกันภัยมาให้ความคุ้มครองการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันหยุดยาวที่จะถึงนี้ ซึ่งสามารถซื้อได้โดยตรงที่บริษัทประกันภัย ประกอบด้วย บริษัทประกันชีวิต 4 บริษัท คือ บมจ. ไทยประกันชีวิต บมจ. ไทยสมุทรประกันชีวิต บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต และ บจ.เอไอเอ และบริษัทประกันวินาศภัย 10 บริษัท คือ บมจ.กรุงเทพประกันภัย บมจ.ทิพยประกันภัย บมจ. ซิกน่าประกันภัย บมจ.กรุงไทยพานิชประกันภัย บมจ.เจนเนอราลี่ประกันภัย บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ บมจ.วิริยะประกันภัย บมจ.เอเชียประกันภัย บมจ.ไทยเศรษฐกิจประกันภัย และบมจ.แอลเอ็มจีประกันภัย โดยสามารถซื้อได้ในระหว่างวันที่ 1 – 30 เมษายน 2561 สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการนำร่องกรณีประกันภัยกลุ่ม ซึ่งหากได้ผลก็จะขยายโครงการให้ครอบคลุมมากขึ้นต่อไป
“สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว ควรขับขี่รถด้วยความไม่ประมาท เมาไม่ขับ พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมสภาพร่างกายและตรวจสภาพรถให้พร้อม และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญก่อนการเดินทาง ขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยและวันหมดอายุของการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ด้วย แม้ว่าการทำประกันภัยไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่การบริหารความเสี่ยงเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดอุบัติเหตุแล้ว การประกันภัยสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกันภัย และประกันภัย 10 บาท สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186”
คปภ. UL Plus
จัดเต็มสัมมนาวิชาการประกันภัยประจำปี (Thailand Insurance Symposium 2018) เปิดโอกาสธุรกิจประกันภัยสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ภายใต้แนวคิด เทคโนโลยีประกันภัยเปลี่ยนโลก
(InsurTech Connect : Application for Imminent Opportunities)
ปลุกพลังธุรกิจใช้ RegTech ช่วยยกระดับและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่สร้างภาระค่าใช้จ่าย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดย สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง เปิดเวทีระดมความรู้ในงานประชุมสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี พ.ศ. 2561 (Thailand Insurance Symposium 2018) ภายใต้แนวคิด “InsurTech Connect : Application for Imminent Opportunities” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประกันภัย ให้กับบุคลากรประกันภัย หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย และเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัยมาเชื่อมโอกาสธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัล โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 400 คน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ณ ห้องบอลรูม 2-3 โรงแรม คอนราด
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า การจัดงาน Thailand Insurance Symposium 2018 ครั้งนี้ถือเป็นเวทีเปิดกว้างและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการเสริมสร้างความรู้ด้านการประกันภัย การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประยุกต์ใช้กับธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างโอกาสทางพันธมิตรเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันทั้งในภาคส่วนธุรกิจประกันภัยและธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตในตลาดการเงินของประเทศไทย และในขณะเดียวกันประชาชนผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์ไปพร้อมกัน
ในงานสัมมนาครั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ InsurTech Connect : Application for Imminent Opportunities โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า การเข้ามาของ FinTech และ InsurTech ธุรกิจประกันภัยได้มีการตื่นตัวอย่างกว้างขวาง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเทคโนโลยีมาเข้ามาผสมผสานทั้งการให้บริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ได้ปรากฏขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทประกันภัยสามารถเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการบริการและผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามตามมาว่า หน่วยงานกำกับดูแลจะมีการกำกับดูแลอย่างไร และภาคธุรกิจจะดำเนินการอย่างไรให้สอดคล้องกับกติกาและพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีอีกระดับ อันเป็นที่มาของ “RegTech” และ “SupTech” ที่ได้ยินแพร่หลายมากขึ้น
สำหรับ Regulatory Technology หรือ “RegTech” เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลของภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ
ประการแรก การพัฒนาระบบ “Dynamic Compliance” ซึ่งเป็นระบบที่มีการติดตามและอัพเดตกฎหมายและหลักเกณฑ์ ในการกำกับดูแลต่างๆ ทั้งในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค รวมถึงมีกระบวนการในการติดตามและวิเคราะห์การดำเนินการภายในเพื่อป้องกันหรือตรวจจับพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล รวมถึงให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล
ประการที่สอง การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำ KYC/CDD (Know your customer / customer due diligent) ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงป้องกันการฉ้อฉล
ประการที่สาม การพัฒนาระบบเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลความเสี่ยงที่รวบรวมมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงมีการกำหนดระบบการแจ้งเตือนถึงกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อความเสี่ยง
ประการที่สี่ การพัฒนาระบบในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานแบบอัตโนมัติ จะเป็นการใช้ระบบอัตโนมัติในการกรองข้อมูล จัดแบ่งประเภท และนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดทำในรูปแบบรายงานตามที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจในการจัดทำงานงานนำส่งต่อหน่วยงานกำกับดูแล
นอกจาก RegTech จะเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการควบคุมการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้ว สำหรับหน่วยงานกำกับก็เริ่มที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการกำกับดูแลเช่นกัน เรียกว่า RegTech for supervisors หรือ SupTech ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยหน่วยงานกำกับในการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์โดยอาศัยระบบอัตโนมัติหรือ AI หรือการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประสานงานกับภาคธุรกิจ เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวในการใช้มาตรการในการกำกับดูแล
นอกจากการนำ “RegTech” และ “SupTech” มาใช้ในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ในธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ซึ่งรวมถึงธุรกิจประกันภัยได้ด้วย เพราะเทคโนโลยีของ Blockchain ทำให้ทรัพย์สินต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่บนโลกออนไลน์และออฟไลน์ สามารถกำหนดสิทธิความเป็นเจ้าของได้ และสามารถโอนส่งต่อถึงกันได้ด้วย ส่งผลให้กระบวนการในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาประกันภัยทำได้ง่ายยิ่งขึ้น อาทิ การออกโมเดลด้านการประกันภัยใหม่ๆ เรียกว่า Parametric Insurance ในสหรัฐอเมริกา เป็นการประกันภัยที่จะจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันเมื่อเกิดเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ การใช้ระบบ Blockchain ในการทำ smart contract จะเป็นการกำหนดข้อตกลงของสัญญาไว้ในโค๊ดคอมพิวเตอร์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ตามที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขของสัญญาแล้ว โค๊ดจะดำเนินการตามข้อตกลงโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากโมเดลดังกล่าว บริษัทให้ความสนใจก็จะทำให้ธุรกิจประกันภัยของเรามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ จะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้อีกมากมาย และทำให้ธุรกิจประกันภัยเข้าสู่ระบบดิจิทัลแบบครบวงจรได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน ก็ย่อมมีความเสี่ยงทางด้านเทคโนโลยีตามมาด้วย โดยเฉพาะความเสี่ยงจากภัยคุกคาม และการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ สำหรับในประเทศไทยมีการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อกำหนดมาตรการและการดำเนินการเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศให้สามารถปกป้อง ป้องกัน หรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการ ซึ่งขณะนี้ร่าง พรบ. ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยเองควรเร่งศึกษาร่าง พรบ. ดังกล่าว เพื่อให้มีระยะเวลาในการเตรียมตัวและดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อ พรบ. มีผลบังคับใช้
“สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อม สิ่งสำคัญที่สำนักงาน คปภ. คำนึงถึงอยู่เสมอ คือ การกำหนดแนวนโยบาย การพัฒนาระบบงานต่างๆ และการพัฒนากฎระเบียบที่รองรับและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลควบคู่ไปกับการตระหนักถึงความต้องการจากทั้งภาคธุรกิจและสังคมอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมประกันภัยในยุคดิจิทัล ให้มีความทันสมัย สอดรับกับความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย เกิดการแข่งขันในเชิงสร้างสรรค์ และประชาชนมั่นใจได้ว่าการทำธุรกรรมใดๆ กับบริษัทประกันภัยจะได้รับการดูแลให้มีความถูกต้อง ปลอดภัย และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน” ดร.สุทธิพล กล่าวย้ำ
สำหรับการจัดงาน Thailand Insurance Symposium ภายใต้ หัวข้อ InsurTech Connect: Applications for Imminent Opportunities ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยวิทยากรผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในด้านประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ Innovation Trend of Digital Insurance 2018 โดย Dr. Woody Mo, CEO of eBaoTech Corporation การบรรยายพิเศษเรื่อง Emerging Risk Insights โดย Mr. Sandeep Gopal, CRO Asia Pac Corporate Solutions, Swiss Re การบรรยายพิเศษเรื่อง InsurTech Revolutionizing Insurance Industry โดย นายธนศักดิ์ ฮุ่นตระกูล, Co – Founder and Managing Director,FairDee Insurtech Co., Ltd. และการบรรยายพิเศษเรื่อง “Digital Transformation for Insurance Business ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ Advisory Board of Noon นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยวิทยากรผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในด้านประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และยังมีพิธีมอบรางวัลผลงานวิชาการให้กับนักศึกษาหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง วปส. รุ่น 7 จำนวน 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลผลงานดีเด่น เรื่อง “การประกันภัยในยุค Digital Disruption” กรณีศึกษา “การประกันภัยการเดินทาง” และผลงานดี เรื่อง “แนวทางการส่งเสริมการออมภาคประชาชนแบบสมัครใจ” โดยผ่านการประกันชีวิต อีกทั้งการสัมมนาในครั้งนี้ ยังเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านการประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
“ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทุกอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งธุรกิจประกันภัยก็เช่นกัน การเข้ามาของพัฒนาการด้านเทคโนโลยีก็จะช่วยยกระดับหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในเชิงข้อบทกฎหมายและกระบวนการกำกับดูแลให้มีความทันสมัยสอดรับกับการพัฒนาการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในท้ายที่สุดไม่เพียงแต่วงการเทคโนโลยีสารสนเทศและวงการธุรกิจประกันภัยจะสามารถพัฒนาขับเคลื่อนเดินต่อไปข้างหน้าได้แล้ว ประชาชนผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์ไปพร้อมกัน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 รถทัวร์นักท่องเที่ยวหมายเลขทะเบียน 30-0161 กาฬสินธุ์ เสียหลักข้ามเกาะกลางถนนชนแผงค้าและต้นไม้ริมทาง และพลิกคว่ำ ณ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 18 ราย และผู้บาดเจ็บกว่า 30 ราย สำนักงาน คปภ. ห่วงใยครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ตนจึงได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสำนักงาน คปภ.ภาค 3-4 และสำนักงาน คปภ. จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อให้ประสานงานกับบริษัทประกันภัยโดยตรงในการเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปโดยรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม พร้อมทั้งได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าผู้ประสบภัยได้มีการทำประกันชีวิตหรืออุบัติเหตุส่วนบุคคลอื่นไว้ด้วยหรือไม่ เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.ได้ติดตามเร่งรัดบริษัทประกันภัยอย่างใกล้ชิดทั้งในเรื่องข้อมูลความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหลักฐานต่างๆประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันภัยอย่างดียิ่ง ประกอบกับสำนักงาน คปภ. มีระบบรายงานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์การเกิดอุบัติภัยรายใหญ่ในรูปแบบ Platform จึงทำให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนมีความรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียงแค่ 6 วัน หลังจากเกิดอุบัติเหตุซึ่งเร็วกว่าปกติที่ใช้เวลาจ่ายเคลมค่าสินไหมทดแทนประมาณ 15 วัน
โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 ตนได้มอบหมายให้ นายชนะพล มหาวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค นายชัยยุทธ มังศรี ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ พร้อมด้วยผู้อำนวยการภาคอาวุโส สำนักงาน คปภ.ภาค 3 (ขอนแก่น) และผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ.จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นสักขีพยานการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทของเสียชีวิต และในโอกาสนี้ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบเงินค่าสินไหมทดแทน ณ สำนักงาน คปภ.จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเงินค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งสิ้น 24,100,802 บาท ซึ่งประกอบด้วย
1. บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้รับประกันภัยรถทัวร์คันเกิดเหตุ หมายเลขทะเบียน 30-0161 กาฬสินธุ์ ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เลขที่ NCMI0000351359 และกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) เลขที่ NVMI0000296805 โดยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้ง 2 กรมธรรม์ให้กับทายาทผู้ประสบภัยทั้ง 18 รายๆละ 650,000 บาท รวมเป็นเงิน 11,700,000 บาท
2. บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินสินไหมทดแทนมรณกรรมให้กับทายาทผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุดังกล่าวที่ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท จำนวน 5 ราย รวมเป็นเงิน 11,600,802 บาท
3. บริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของผู้ประสบภัยที่ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท จำนวน 4 รายๆละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 400,000 บาท
4. บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของผู้ประสบภัยที่ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท จำนวน 1 ราย เป็นเงิน 100,000 บาท
5. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลของผู้ประสบภัยที่ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท จำนวน 1 ราย เป็นเงิน 200,000 บาท
6. บริษัท สยามซิตี้อินชัวรันส์ จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันอุบัติเหตุนักเรียนของผู้ประสบภัยที่ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท จำนวน 1 ราย เป็นเงิน 100,000 บาท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า อุบัติเหตุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้น ประชาชนจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องของการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และฝากเตือนถึงประชาชนทั่วไปรวมถึงผู้ประกอบการควรทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดและหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ด้วยเพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงและครบวงจร สำนักงาน คปภ.ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บในครั้งนี้ และจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยอย่างเต็มที่ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องประกันภัยสามารถติดต่อมาที่สายด่วน คปภ. 1186